ศีลสารภาพบาป
และ
ศีลมหาสนิท
ศีลสารภาพบาป
ศีลสารภาพบาป (การสารภาพบาป) คือ หนึ่งในศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ข้อของศาสนาคริสต์ โดยผู้ที่สารภาพบาปจะประกาศบาปของตนเองต่อหน้าบาทหลวง โดยจากนั้นจะมีบทสวดแก้บาปอย่างเป็นที่ประจักษ์แก่พยาน(โดยการอ่านบทสวดแก้บาป)โดยถือว่าผู้สารภาพบาปได้สละบาปออกไปในเชิงนามธรรมโดยพระบุตรเยซูคริสต์เจ้า ศีลดังกล่าวถูกบัญญัติขึ้นโดยพระเยซูเอง โดยพระองค์ได้กล่าวแก่เหล่าสาวกว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่าสิ่งใดซึ่งท่านจะผูกมัดในโลกก็จะถูกผูกมัดในสวรรค์ และสิ่งซึ่งท่านจะปล่อยในโลกก็จะถูกปล่อยในสวรรค์” (มัทธิว 18:18) และในอีกบทหนึ่งกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เถิดถ้าท่านจะยกความผิดบาปของผู้ใดความผิดบาปนั้นก็จะถูกยกเสีย และถ้าท่านจะให้ความผิดบาปติดอยู่กับผู้ใดความผิดบาปก็จะติดอยู่กับผู้นั้น” (ยอห์น 20:22-23) อัครสาวกทั้ง 12 องค์ ได้รับ “อำนาจ” จากพระเยซูในการ “ผูกมัดและปล่อย” และได้ถ่ายทอดต่อมายังเหล่าสังฆราชรุ่นต่อๆมาผ่านการประกอบพิธีรับศีลกำลัง(พิธีศีลบวช) เพื่อถ่ายทอดอำนาจดังกล่าวต่อไปแก่นักบวชทั้งหลาย
หลวงพ่อนักบุญ[1]หลายๆ ท่านต่างขนานนามศีลสารภาพบาปนี้ว่าเป็นดั่งศีลล้างบาปครั้งที่สอง ถ้าในการผ่านศีลล้างบาปมนุษย์จะได้ชำระตนจากบาปของการเกิดเป็นมนุษย์ซึ่งตกทอดมาจากการเป็นลูกหลานของอดัมและอีวาแล้ว ศีลสารภาพบาปนั้นจะชำระเขาจากบาปของตนเองที่ก่อไว้ ซึ่งสะสมโดยตัวเขาเองหลังจากรับศีลล้างบาป
เพื่อให้พิธีศีลสารภาพบาปดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ผู้สารภาพบาปจำเป็นต้องทำคือ การระลึกตระหนักถึงบาปของตนเอง และสารภาพบาปเหล่านั้นออกมาอย่างใจจริง ความปรารถนาที่จะกลับตัวจากบาป และไม่กระทำบาปนั้นซ้ำอีก ความศรัทธามั่นในพระเยซู และความหวังถึงพระเมตตาของพระองค์ รวมถึงความเชื่อที่ว่าศีลสารภาพบาปมีอำนาจที่จะชะล้างบาปและทำความสะอาดใจที่สารภาพบาปออกมาอย่างจริงใจผ่านบทสวดของนักบวช
นักบุญยอห์นกล่าวว่า “ถ้าเราทั้งหลายจะว่าเราไม่มีบาปเราก็หลอกตัวเอง และความจริงไม่ได้อยู่ในเราเลย” (1 ยอห์น 1:8) ในขณะเดียวกันเรามักจะได้ยินหลายๆ คนพูดว่า “ฉันก็ไม่ได้ฆ่าใคร ฉันไม่ได้ขโมย ไม่ได้ล่วงประเวณีกับใครแล้วจะให้ฉันสารภาพบาปอะไรกัน?” แต่ถ้าเราลองทำความรู้จักกับพระบัญญัติในพระคัมภีร์ดีพอแล้วเราจะพบว่าเราทุกคนต่างก็ทำบาปต่อใครและใครหรือสิ่งไหนไม่มากก็น้อย โดยเงื่อนไขแล้วบาปต่างๆ ที่มนุษย์ก่อ สามารถแบ่งเป็นสามกลุ่มหลักๆ คือบาปที่ผิดต่อพระเจ้า บาปที่ผิดต่อคนใกล้ชิด และบาปที่ผิดต่อตนเอง
บาปที่ผิดต่อพระเจ้า
- ความไม่กตัญญูต่อพระเจ้า
- ความไม่เชื่อ ความสงสัยในศรัทธา การอบรมสั่งสอนคนอื่นอย่างผิดๆ เพื่อแก้ตัวต่อความไม่เชื่อของตนเอง
- การถดถอยในความเชื่อ การนิ่งเงียบเพราะน้อยใจไม่กล้าเวลาที่คนอื่นกล่าวร้ายต่อความเชื่อในพระเจ้า การไม่สวมกางเขนบนตัว การไปเข้าคบหากับพวกลัทธิอื่น ๆ
- การเอ่ยพระนามของพระเจ้าโดยไม่เคารพ (เวลาที่ไม่ได้เอ่ยพระนามของพระเจ้าในบทสวด หรือการพูดสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้าในเรื่องอันไม่สมควร)
- การสาบานโดยพระนามของพระเจ้า
- การดูดวงทำนายโชคชะตา การรักษาโดยหมอผีและแม่มด การขอความช่วยเหลือต่างๆ จากผู้มีญาณวิเศษ การอ่านหนังสือเวทมนต์ไม่ว่าจะวิญญาณขาว ดำ หรือมนต์อื่นๆ การอ่านและการเผยแผ่หนังสือเวทมนต์เหล่านี้ รวมถึงการสอนคำสอนที่ผิดๆ
- ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
- การเล่นการพนัน
- การละเว้นการปฏิบัติตามหลักสวดมนต์ทำวัตรเช้า และเย็น
- การไม่เข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ และเทศกาลอื่นๆ
- การไม่ถือศีลอดในวันพุธ และวันศุกร์ การผิดหลักการถือศีลอดอื่นๆ ที่กำหนดไว้โดยคริสตจักร
- การไม่ตั้งใจ (ละเว้นการอ่านทุกวัน) อ่านพระคัมภีร์ไบเบิ้ล หรือหนังสือจรรโลงใจ
- การละเมิดศีลต่างๆ ที่บัญญัติไว้โดยพระเจ้า
- อาการท้อถอยในเวลาที่ลำบาก และความไม่เชื่อในพระวินิจฉัยของพระเจ้า การกลัวความชรา ความยากจน และความเจ็บป่วย
- การเสียสมาธิในขณะอธิษฐานสวดมนต์ การใช้ความคิดถึงเรื่องทางโลกในขณะประกอบพิธีทางศาสนา
- การว่ากล่าวประณามคริสตจักร และนักบวช
- การหลงใหล และพึงพอใจในสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนโลก
- การดำเนินชีวิตอยู่ในบาปต่อไปโดยอาศัยใช้ความเมตตาของพระเจ้า นั่นคือ การยึดมั่นในพระเจ้าอย่างเกินขอบเขต
- การใช้เวลาว่างโดยเปล่าประโยชน์ในการดูทีวี การอ่านหนังสือเพื่อความบันเทิงแทนที่จะสวดมนต์อธิษฐาน หรืออ่านพระคัมภีร์ไบเบิ้ลหรืออ่านหนังสือจรรโลงจิตใจ
- การเก็บงำบาปบางอย่างโดยไม่สารภาพ และการรับศีลมหาสนิทด้วยกิริยาไม่เหมาะสม
- การคาดหวังในตนเอง หรือคาดหวังในตัวมนุษย์ การหวังอย่างลมๆ แล้งๆ ในกำลังของตนเองหรือการคาดหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยไม่ยึดมั่นในความเป็นจริงว่า พระเจ้านั้นทรงคุมทุกอย่างอยู่ในพระหัตถ์อยู่แล้ว
บาปผิดต่อผู้ใกล้ชิด
- การอบรมสั่งสอนเด็กโดยไม่สอนความเชื่อศรัทธาในพระคริสต์
- การโมโหง่าย การใช้อารมณ์โกรธ การใช้อารมณ์ฉุนเฉียว
- การทำตัวเป็นคนหน้าซื่อใจคด
- การเป็นพยานเท็จ
- ความแค้นอาฆาต
- การดูถูก
- ความขี้เหนียว
- การไม่ใช้คืนหนี้
- การเบี้ยวเงินค่าจ้างใช้แรงงาน
- การปฏิเสธให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก
- การไม่เคารพบิดามารดา และการใช้อารมณ์หงุดหงิดต่อความแก่เฒ่าของท่าน
- การไม่ให้ความเคารพผู้อาวุโสกว่า
- การไม่ตั้งใจทำงานในที่ทำงานของตน
- การประณามหยามเหยียด
- การหยิบเอาของของผู้อื่น การขโมย
- การทะเลาะต่อเถียงกับคนข้างบ้านหรือผู้ที่ใกล้ชิด
- การฆ่าลูกในท้องตนเอง (ทำแท้ง) หรือการชักจูงให้ผู้อื่นฆ่าลูกในท้อง (ทำแท้ง)
- การฆ่าคนด้วยคำพูด คือการพูดให้ร้ายผู้อื่น หรือประณามคนอื่น จนกระทั่งคนนั้นถึงแก่สภาพใกล้ตายหรือตายไป
- การดื่มสุรามึนเมาในเวลาร่วมรำลึกถึงบุคคลที่เสียชีวิตนั้นๆ แทนการตั้งจิตอธิษฐานเผื่อแผ่ส่วนบุญแก่ผู้ที่เสียชีวิต
บาปที่ผิดต่อตนเอง
- การพูดมาก การคิดมาก การพูดเพ้อเจ้อไม่มีสาระ
- หัวเราะโดยไม่มีสาเหตุ
- การพูดหยาบคาย
- การเห็นแก่ตัวเอง
- การทำความดีเพื่อจงใจให้ผู้อื่นเห็น
- ความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง
- ความปรารถนาที่จะร่ำรวย
- ความเห็นแก่เงิน
- ความอิจฉาริษยา
- การพูดเท็จ
- อาการเมา การเสพยาเสพติด
- การเห็นแก่กิน
- การละเมิดประเวณี ได้แก่การยั่วให้เกิดอารมณ์ใคร่ ความปรารถนาที่ไม่บริสุทธิ์ การสัมผัสล่วงประเวณี การชมภาพยนตร์อีโรติกหรือการอ่านหนังสือประเภทอย่างว่า
- การร่วมประวณีกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นสามีหรือภรรยา
- การนอกใจสามีหรือภรรยา
- การล่วงประเวณีที่ผิดต่อธรรมชาติโดยร่วมประเวณีเพศเดียวกัน หรือการใช้มือล่วงประเวณี
- การผิดทางสายเลือด โดยร่วมประเวณีกับคนในสกุลเดียวกัน
แม้ว่าบาปต่างๆ ที่ได้แจกแจงมานั้นจะแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ทว่า ในที่สุดแล้ว บาปต่างๆ นั้นล้วนก็ผิดต่อพระเจ้า (นั่นคือ การล่วงละเมิดบทพระบัญญัติของพระเจ้า และเป็นการหมิ่นพระเกียรติของพระเจ้า) และผิดต่อผู้ใกล้ชิด (ไม่เปิดโอกาสให้แก่การมีความรักและความสัมพันธ์ที่แท้จริงทางคริสตศาสนา) และผิดต่อตนเองด้วย (นั่นคือ การขัดขวางไม่ให้จิตของตนได้เสริมสร้างตนตามวิถีของผู้ได้รับความรอด)
ต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรับศีลสารภาพบาป
ผู้ที่ปรารถนาจะนำบาปที่ตนเองได้กระทำเอาไว้มาสารภาพต่อหน้าพระเจ้านั้นจะต้องเตรียมตัวมาก่อนรับพิธีดังกล่าว การเตรียมตัวจะต้องเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ก่อนพิธีศีลสารภาพบาป โดยสมควรอ่านและศึกษาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับศีลสารภาพบาปและศีลมหาสนิท และเพื่อที่จะสามารถจดจำบาปที่ตนเองกระทำไว้ได้ทั้งหมดควรที่จะบันทึกไว้ในกระดาษต่างหาก เพื่อก่อนจะดำเนินพิธีรับศีลจะได้เหลือบมองอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง หลายครั้งที่ผู้สารภาพบาปสามารถนำกระดาษที่จดบาปเอาไว้มายื่นต่อบาทหลวงให้บาทหลวงอ่านได้ทันที แต่บาปบางประการที่หนักหนานักทางจิตใจสมควรที่จะพูดสารภาพออกมาให้ได้ยิน ไม่จำเป็นต้องร่ายยาวประวัติความเป็นมาก่อนที่จะสารภาพบาปแค่บอกถึงบาปที่ได้กระทำก็เพียงพอ เช่น ถ้าคุณเกิดมีข้อขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้องก็ไม่จำเป็นต้องเล่าให้ฟังว่าอะไรเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง แค่สารรภาพต่อบาปที่ได้ประณามตำหนิติเตียนญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านของตนก็พอ สำหรับพระเจ้าและบาทหลวง สิ่งที่สำคัญไม่ใช่รายชื่อบาปของผู้สารภาพบาป แต่เป็นอากัปกิริยาความรู้สึกสำนึกบาปของผู้พูด และไม่ใช่เรื่องราวอย่างละเอียดที่สำคัญแต่เป็นใจของผู้สารภาพที่เปิดเผยต่อหน้าพระเจ้า ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่าการสารภาพบาปมิใช่เพียงการตระหนักถึงข้อด้อยของตนเองแต่ประการแรกเลย คือความกระหายที่จะชำระตนจากบาปเหล่านั้น ไม่ว่ากรณีใดๆ ห้ามการยกเหตุผลแก้ตัว นั่นก็มิใช่การสารภาพบาปแล้ว! ผู้เฒ่าซีลวน อาฟอนสกี้[2] ได้อธิบายถึงความหมายของการสารภาพบาปว่า “นั่นเป็นสัญลักษณ์ของการชำระบาป ถ้าคุณเกิดความรู้สึกเกลียดชังบาปเมื่อไร นั่นแสดงว่าพระเจ้าได้ชำระให้อภัยบาปของคุณหมดแล้ว”
จะเป็นการดีที่จะสร้างนิสัยให้ทุกๆ เย็นของแต่ละวันเราควรวินิจฉัยวันที่ผ่านไปแต่ละวันของตน และสารภาพบาปแต่ละวันของตนทันที บันทึกบาปที่หนักหนาในกระดาษเพื่อนำไปสารภาพต่อบาทหลวงในโอกาสถัดไป จำเป็นที่จะต้องทำการประนีประนอมปรองดองกับผู้ใกล้ชิดและขอโทษแก่ทุกคนที่ได้ทำผิดไว้ เมื่อเตรียมตนพร้อมแก่การรับศีลสารภาพบาปแล้วก็สมควรที่จะเสริมบทสวดมนต์สารภาพบาปที่มีอยู่ในหนังสือบทสวดภาวนาของคริสตจักรออร์โธด็อกซ์เข้าไปในการทำวัตรตอนเย็นของตนด้วย
เพื่อที่จะรับศีลสารภาพบาป ควรที่จะรู้ก่อนล่วงหน้าว่าเมื่อใดที่จะมีพีธีรับศีลสารภาพบาปที่โบสถ์ โบสถ์ใดที่มีการทำพิธีทางศาสนาทุกวันที่นั่นคุณแน่ใจได้ว่าจะมีพิธีรีบศีลสารภาพบาปอย่างแน่นอน ที่ใดที่ไม่มีพิธีกรรมทุกวันก็ควรศึกษาทำความรู้จักกับตารางการประกอบพิธีไว้ล่วงหน้า
เด็กต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรับศีลสารภาพบาป
เด็กที่อายุยังไม่ถึง 7 ขวบ (ในโบสถ์เรียกว่า ผู้เยาว์) จะสามารถรับศีลมหาสนิทได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านศีลอื่นก่อน แต่จำเป็นที่จะต้องสั่งสอนอบรมแต่วัยเยาว์ให้เด็กมีนิสัยที่เกิดความรู้สึกที่เป็นการบูชาพระเจ้าเวลาที่จะรับศีล การรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ โดยปราศจากการเตรียมตัวจะทำให้เกิดความรู้สึกธรรมดาและชาชินอันไม่สมควรต่อพิธีกรรม ควรเตรียมความพร้อมของผู้เยาว์ก่อนการรับศีลมหาสนิทล่วงหน้าประมาณ 2-3 วัน โดยการอ่านพระคัมภีร์ร่วมกับผู้เยาว์ ประวัตินักบุญ และหนังสืออื่นๆ ที่จรรโลงใจทางศาสนา ลดหรือไม่ก็เลิกดูโทรทัศน์ (แต่ผู้ปกครองควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้แน่ใจว่าไม่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการรับศีลมหาสนิท) คอยดูแลให้เด็กสวดมนต์ตอนเช้าและเย็นสม่ำเสมอ พูดคุยกับเด็กถึงสิ่งที่ทำในวันที่ผ่านๆ มา และพูดให้เด็กรู้สึกถึงความน่าอับอายของบาปที่ตนได้กระทำไว้ สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องจำ คือ ไม่มีอะไรที่เด็กจะจดจำไปเป็นตัวอย่างที่แท้จริงมากไปกว่าความประพฤติของผู้ปกครองเอง
นับจาก 7 ขวบขึ้นไป เด็ก (เยาวชน) จะรับศีลมหาสนิทเหมือนกับผู้ใหญ่ทั่วไป คือ หลังจากที่ได้ผ่านศีลสารภาพบาปเรียบร้อยแล้ว โดยส่วนมาก บาปต่างๆ ที่ได้พูดถึงในหน้าที่แล้วนั้นต่างก็พบเห็นได้ในเด็กทั่วไป แต่อย่างไรก็ดีการสารภาพบาปของเด็กจะมีลักษณะเฉพาะออกไปต่างจากผู้ใหญ่ ในการที่จะเตรียมใจให้เด็กพร้อมสารภาพบาปอย่างใจจริง ควรจะค่อยๆ ให้เด็กอ่านรายชื่อของบาปที่เด็กอาจจะได้กระทำไว้ เช่น
- นอนตื่นสายจนกระทั่งพลาดการสวดมนต์ตอนเช้าตามปกติหรือไม่?
- ลืมสวดมนต์ก่อนรับประทานอาหารหรือลืมสวดมนต์ก่อนเข้านอน หรือไม่ ?
- จำบทสวดที่สำคัญที่สุดในนิกายออร์โธด็อกซ์ เช่น บท “ข้าแต่พระบิดา” หรือ บท “สวดมนต์ถึงพระเยซู” บท “พระแม่มารี จงยินดี” หรือบทสวดถึงเทพผู้คุ้มครองตนที่ตนเองมีชื่อตามเทพนั้นอยู่จนจำได้ขึ้นใจหรือไม่ ?
- ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์หรือไม่ ?
- เล่นจนลืมไปโบสถ์ตามเทศกาลต่างๆ ทางศาสนาหรือไม่ ?
- วางตัวอย่างเหมาะสมหรือไม่ในขณะประกอบพิธีกรรมที่โบสถ์ วิ่งเล่นหรือพูดเล่นหยอกล้อกันกับเพื่อนในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และทำให้คนอื่นต้องตกอยู่ในภวังค์ของกิเลศตัณหาหรือไม่ ?
- ได้พูดเอ่ยพระนามของพระเจ้าอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ ?
- ได้ทำกางแขนบนตัวในกิริยาที่เหมาะสมหรือไม่ เร่งกระทำเกินไปหรือไม่ ทำให้กางเขนบิดเบี้ยวไปหรือไม่ ?
- จิตใจวอกแวก คิดถึงเรื่องอื่นขณะสวดมนต์หรือไม่ ?
- อ่านพระคัมภีร์และหนังสือจรรโลงใจอื่นๆ ทางศาสนาหรือไม่ ?
- ห้อยกางเขนกับตัวหรือไม่? อายที่จะเปิดเผยว่าตนมีกางเขนหรือไม่ ?
- ใช้กางเขนเป็นเพียงเครื่องประดับ ซึ่งถือว่าเป็นบาปหรือไม่ ?
- ห้อยเครื่องลางอย่างอื่น เช่น สัญลักษณ์ประจำราศีเกิดหรือไม่ ?
- ดูหมอ ดูดวงชะตาหรือไม่ ?
- ปิดบังบาปบางประการด้วยเหตุที่เกิดความอายอย่างไม่สมควรต่อหน้าบาทหลวงผู้รับสารภาพบาป และทำให้ได้รับศีลมหาสนิทอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ ?
- ได้ยกตน หยิ่งยโสต่อหน้าคนอื่นในความสำเร็จหรือความสามารถของตนเองหรือไม่ ?
- ได้ต่อล้อต่อเถียงกับบุคคลอื่นเพียงเพื่อจะเถียงเอาชนะหรือไม่ ?
- ได้โกหกหลอกลวงพ่อแม่ของตนเพียงเพราะกลัวการถูกลงโทษหรือไม่ ?
- ได้รับประทานอาหารอันไม่สมควรรับประทานในขณะถือศีลอด เช่น ไอศกรีมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่หรือไม่ ?
- เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ ไม่ต่อล้อต่อเถียง ไม่อ้อนขอให้ซื้อของราคาแพง หรือไม่?
- ได้ทุบต่อยทำร้ายร่างกายใคร ชักพาให้ใครมาทะเลาะวิวาทตบตีกัน หรือไม่?
- ได้ทำร้ายหรือรังแกผู้อ่อนแอกว่าหรือไม่?
- ได้รังแกสัตว์หรือไม่?
- ได้นินทาถึงใครบางคน หรือได้สร้างเรื่องกล่าวร้ายถึงใครหรือไม่?
- ได้หัวเราะเยาะเย้ย ดูถูกผู้ที่มีปมด้อยทางร่างกายหรือไม่?
- ได้ทดลองสูบบุหรี่ เสพสุราหรือเสพยาเสพติดหรือไม่?
- ได้ด่าทอ กล่าวคำไม่ดีแก่ใครหรือไม่?
- ได้เล่นการพนันหรือไม่?
- ได้ “ช่วยตัวเอง” ให้สำเร็จความใคร่หรือไม่?
- ได้หยิบของของผู้อื่นเอาไปเป็นของตนหรือไม่?
- หยิบของที่ไม่ใช่ของตนเองไปใช้โดยไม่ขออนุญาตเจ้าของก่อนจนติดเป็นนิสัยหรือไม่?
- เกียจคร้าน ไม่ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้านหรือไม่ ?
- ได้แกล้งทำเป็นป่วยเพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ควรกระทำ หรือไม่?
- ได้อิจฉาริษยาผู้อื่นหรือไม่?
รายการบาปเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดเป็นบาปได้จริง เด็กแต่ละคนจะมีประสบการณ์การผ่านในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปเฉพาะของแต่ละคน หน้าที่ในที่นี้ของพ่อแม่ก็คือการเตรียมใจลูกให้มีความรู้สึกอยากที่จะสารภาพบาป พร้อมต่อการรับศีลสารภาพบาป คุณพ่อคุณแม่อาจสามารถแนะนำให้ลูกรำลึกถึงความประพฤติของตนเองหลังจากที่รับศีลสารภาพบาปในครั้งที่แล้ว และเขียนบาปที่ตนได้กระทำ แต่ไม่แนะนำให้พ่อแม่เขียนให้ลูก สำคัญที่สุดลูกจะต้องเข้าใจว่าการรับศีลสารภาพบาปนั้น คือ ศีลที่ชำระจิตใจออกจากบาปภายใต้เงื่อนไขของการสารภาพออกมาจากใจจริงอย่างตั้งใจโดยปรารถนาที่จะไม่กระทำบาปนั้นๆ ซ้ำอีก
ขั้นตอนการรับศีลสารภาพบาป ทำอย่างไร
ศีลสารภาพบาปมักประกอบขึ้นในช่วงเวลาค่ำ คือ อาจเป็นหลังจากพิธีทำพิธีทางศาสนาตอนเย็นแล้วก็ได้ หรือไม่ก็เป็นตอนเช้าตรู่ก่อนเริ่มพิธีรับศีลมหาสนิท ไม่ควรที่จะมาสายต่อพิธีการรับศีลนี้เนื่องจากศีลนี้เริ่มต้นด้วยการอ่านบทสวดแสดงตน ซึ่งทุกคนที่ประสงค์จะล้างบาปต้องร่วมสวดอ่านทุกคน ในการอ่านบทสวดแสดงตนนั้น บาทหลวงจะหันมาหาคนที่จะสารภาพบาป เพื่อให้คนๆ นั้นขานชื่อเสียงเรียงนามของตน โดยทุกคนจะพูดชื่อออกมาโดยไม่เต็มเสียงนัก ใครที่มาถึงพิธีรับศีลไม่ทันก็จะไม่ได้รับอนุญาติให้รับศีลสารภาพบาป แต่หากมีโอกาสในตอนท้ายของการประกอบพิธีรีบศีล บาทหลวงก็จะเริ่มบทสวดแสดงตนใหม่อีกครั้งแล้วจึงรับสารภาพบาปในตอนท้ายหรือไม่ก็แจ้งนัดวันเวลาที่จะมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่สามารถเข้ารับศีลสารภาพบาปได้
การสารภาพบาปประกอบในโบสถ์ต่อหน้าธารกำนัลของผู้ที่มาเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า (ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมในโบสถ์) ด้วยเหตุนี้ในระหว่างพิธีควรให้ความเคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีรับศีล ไม่ยืนเบียดบาทหลวงผู้รับสารภาพบาป และไม่รบกวนผู้สารภาพบาปต่อหน้าบาทหลวงนั้นให้เกิดความรำคาญใจ การสารภาพบาปจะต้องสารภาพบาปทั้งหมดที่มี ไม่ใช่สารภาพวันนี้หนึ่งอย่างและเก็บไว้สารภาพต่อในวันถัดไป บาปอันใดที่ผู้สารภาพบาปได้เคยสารภาพออกมาแล้วและได้รับการชำระแล้วไม่จำเป็นต้องสารภาพใหม่อีกครั้ง หากเป็นไปได้ควรสารภาพบาปต่อบาทหลวงองค์ที่ได้เคยรับสารภาพบาปตนเองไว้ในคราวก่อน หากเกิดความรู้สึกอับอายที่จะสารภาพบาปอันเป็นความรู้สึกลวงก็ไม่ควรเปลี่ยนบาทหลวงผู้รับคำสารภาพบาปไปมาถ้าหากมีบาทหลวงที่กระทำพิธีให้ตนเองเป็นประจำอยู่แล้ว ผู้ที่คิดทำแบบนี้เท่ากับคิดจะหลอกพระผู้เป็นเจ้า เพราะเวลาที่เราสารภาพบาปเราไม่ได้สารภาพต่อหน้าบาทหลวงที่รับสารภาพบาป แต่เราสารภาพต่อพระผู้เป็นเจ้าที่สถิตอยู่ด้วยกับบาทหลวง
ในโบสถ์ใหญ่ๆ นั้น เนื่องจากมีผู้ที่ประสงค์จะสารภาพบาปเป็นจำนวนมาก กอปรกับไม่มีโอกาสที่บาทหลวงจะสามารถรับคำสารภาพเป็นรายบุคคลได้อย่างทั่วถึง จึงมีวิธีการ “สารภาพบาปรวม” กล่าวคือ บาทหลวงจะกล่าวถึงบาปต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่มักจะกระทำกัน และคนที่มายืนเพื่อสารภาพบาปต่อหน้าบาทหลวงก็จะกล่าวขานรับในบาปนั้นๆ เพื่อสารภาพต่อบาปของตน หลังจากนั้นคนที่สารภาพบาปก็จะเดินเข้ามาสวดมนต์บทจบในตอนท้ายเป็นรายบุคคล ใครก็ตามที่ไม่เคยรับศีลสารภาพบาป หรือได้ละเว้นจากการสารภาพบาปมานานหลายปีควรหลีกเลี่ยงการสารภาพบาปรวมแบบนี้ โดยควรไปสารภาพบาปส่วนตัวโดยอาจเลือกสละเวลามาสารภาพบาปในวันธรรมดา ในเวลาที่ผู้ประสงค์สารภาพบาปมาที่โบสถ์ไม่มากนัก หรือไม่ก็ไปที่โบสถ์ที่มีแต่การรับศีลสารภาพบาปเป็นการส่วนตัว หากไม่มีโอกาสทำแบบนั้นในโอกาสที่จะสารภาพบาปมวลรวมร่วมกับผู้อื่นควรเข้าไปหาบาทหลวง เพื่อรับสวดบทจบเป็นคนท้ายๆ ของแถว เพื่อไม่กีดกันโอกาสของผู้อื่นและจะได้อธิบายสถานการณ์ให้บาทหลวงฟัง และสารภาพบาปได้อย่างเต็มที่ การทำแบบนี้ยังรวมไปถึงผู้ที่ทำบาปหนักหนาสาหัสอีกด้วย
ผู้ที่เข้าถึงรสพระธรรมจำนวนมากต่างเตือนกันว่าบาปหนักหนาสาหัสนั้น หากไม่ได้สารภาพออกมาในโอกาสพิธีรีบศีลแบบรวมแล้ว ก็จะถือว่าเหมือนไม่ได้รับสารภาพ และในเมื่อไม่ได้สารภาพก็เท่ากับว่าไม่ได้รับการชำระออกมา
หลังจากที่ได้สารภาพบาป และบาทหลวงได้ดำเนินการอ่านบทสวดจบแล้วผู้ที่สารภาพบาปจะได้เดินไปจุมพิตยังไม้กางเขนและพระคัมภีร์ที่วางบนแท่นวางรูปเคารพ และถ้าหากเตรียมตัวที่จะรับศีลมหาสนิทด้วยแล้วล่ะก็ ก็จะเดินไปรับพระพรเพื่อเตรียมเข้าศีลมหาสนิทจากบาทหลวงต่อไป
ในบางกรณีบาทหลวงสามารถดำเนินการวาง “บทคาดโทษ” ผู้ที่สารภาพบาปได้ ซึ่งถือเป็นบทเรียนทางฝ่ายวิญญาณไว้ใช้เพื่อให้ผู้ที่สารภาพบาปเข้าถึงลึกซึ้งและหักถอนใจออกจากนิสัยบาปของตนเอง บทคาดโทษดังกล่าวสามารถถือได้ทั้งเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าผ่านบาทหลวง ซึ่งมีไว้เพื่อความจำเป็นในการช่วยให้กลับใจของผู้สารภาพบาปก็ได้ ในกรณีที่ไม่สามารถวางบทคาดโทษได้ไม่ว่ากรณีสาเหตุใดก็ตามควรจะขอคำปรึกษาจากบาทหลวงองค์ที่วางบทคาดโทษแก่ตนเพื่อหาวิธีทางออกใหม่
ผู้ที่ประสงค์ไม่เพียงแค่รับศีลสารภาพบาปแต่ยังประสงค์เข้ารับศีลมหาสนิท ก็ควรที่จะเตรียมตัวเตรียมใจมาให้พร้อมเข้ารับศีลนี้ล่วงหน้าในกิริยาที่เหมาะสมสง่างามและถูกต้องตามหลักศาสนา การเตรียมพร้อมแบบนี้เรียกว่า “การเตรียมถวายเครื่องบูชา”
ต้องเตรียมตัวรับศีลมหาสนิทอย่างไร
วันถวายเครื่องบูชาจะดำเนินไปเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ หรืออย่างต่ำ 3 วัน ในวันดังกล่าวจะต้องถือศีลอดในมื้ออาหารที่รับประทานจะต้องละ-เว้นอาหารต้องห้าม อันได้แก่ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ไข่ และในวันที่ถือศีลอดอย่างเคร่งครัดมากๆ ก็ต้องละเว้นเนื้อปลาด้วย สามีและภรรยาต้องละจากสัมพันธ์ทางเพศ ทั้งครอบครัวต้องละจากสิ่งบันเทิงและการดูโทรทัศน์ ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยจะต้องไปเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์ด้วย นอกจากนี้จะต้องเสริมการสวดมนต์ภาวนาเช้า-เย็นให้มากขึ้นอีกด้วย ด้วยการอ่านบัญญัติภาวนาสารภาพบาป
ไม่ว่าที่โบสถ์จะประกอบพิธีรับศีลสารภาพบาปหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็น ในวันก่อนหน้าวันพิธีรับศีลมหาสนิทจะต้องมาร่วมพิธีรับศีลสารภาพบาปในตอนเย็น และตอนค่ำก่อนที่จะสวดมนต์เพื่อเข้านอน จะต้องอ่านบัญญัติภาวนา 3 บท คือ บทบัญญัติภาวนาสารภาพบาปต่อหน้าพระเยซูผู้เป็นเจ้าของเรา บทบัญญัติภาวนาพระแม่มารี และบทบัญญัติภาวนาถึงเทพผู้พิทักษ์คุ้มครอง สามารถอ่านบทแต่ละบทแยกกันได้หรือไม่ก็อ่านเป็นทำนองเสนาะตามบทสวดซึ่งผนวกทั้งสามบทนี้เข้าด้วยกัน จากนั้นอ่านบทบัญญัติภาวนาถึงศีลมหาสนิทก่อนจะอ่านบทสวดภาวนารับศีลมหาสนิทในตอนเช้า ใครที่ไม่สะดวกจะประกอบวีถีการสวดมนต์ภาวนาดังกล่าวใน 1 วัน ให้ไปขออนุญาตจากบาทหลวงเพื่ออ่านบทบัญญัติภาวนาทั้ง 3 บทก่อนล่วงหน้า ในช่วงวันถวายบูชาศีลมหาสนิท[3]
ออกจะเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่จะกระทำกิจสวดมนต์เช้า-เย็นตามข้อบังคับของศาสนาเพื่อเตรียมพร้อมต่อการรับศีลมหาสนิท พ่อแม่ควรจะร่วมปรึกษากับบาทหลวงในการเลือกบทสวด และบัญญัติที่ไม่เป็นการหนักหนาเกินไปสำหรับเด็กก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนบทสวดที่จำเป็นต่อการเข้ารับศีลมหาสนิทเข้าไปทีละน้อยจนกระทั่งเด็กสามารถสวดได้หมดตามกฏบัญญัติก่อนเข้ารับศีลมหาสนิท
สำหรับใครหลายๆ คน การอ่านบทบัญญัติภาวนาและท่องบทสวดมนต์เป็นเรื่องยากไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ใครหลายๆ คนจึงเลือกที่จะไม่สารภาพบาป และไม่เข้ารับศีลมหาสนิทเป็นระยะเวลาหลายปี หลายคนสับสนประเด็นระหว่างการเตรียมตัวก่อนรับศีลสารภาพบาป (ซึ่งไม่จำเป็นต้องท่องจำบทสวดต่างๆ เป็นจำนวนมาก) กับการเตรียมตัวก่อนรับศีลมหาสนิท สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ขอแนะนำให้เข้ารับศีลมหาสนิทแยกจากศีลสารภาพบาปตามลำดับขั้น โดยตอนแรก ให้เตรียมตัวพร้อมเข้ารับศีลสารภาพบาปก่อนตามเงื่อนไข จากนั้นเมื่อได้สารภาพบาปแล้วจึงขอคำปรึกษาจากบาทหลวง ควรจะต้องอธิษฐานกับพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้พระองค์ช่วยหนุนใจให้ผ่านความลำบากให้ได้ และเสริมกำลังให้พอต่อการเข้ารับศีลมหาสนิท
ด้วยความที่ในทางปฏิบัติ ผู้เข้ารับศีลมหาสนิทจะไม่รับประทานอาหารเพื่อทำร่างกายให้สะอาดมาก่อน ด้วยเหตุนี้จะเริ่มไม่รับประทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำ (ผู้สูบบบุหรี่ ให้งดเว้น) ตั้งแต่เวลา 24.00 น. เป็นต้นไป กฏดังกล่าวยกเว้นเด็กที่อายุยังไม่ถึง 7 ขวบ ส่วนเด็กๆ ควรเริ่มในวัยที่เหมาะสม (ประมาณ 5-6 ปี หรืออาจจะก่อนหน้านั้น) ที่จะฝึกให้คุ้นเคยกับกฏระเบียบที่มีอยู่นี้
ส่วนในตอนเช้าก็เช่นกันจะไม่รับประทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำ และแน่นอนไม่สูบบุหรี่ ทำได้อย่างมากแค่แปรงฟันเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อได้อ่านบทสวดมนต์ตอนเช้าแล้วก็จะต้องอ่านบทสวดสำหรับศีลมหาสนิท ถ้าหากรู้ตัวว่าลำบากที่จะอ่านบทสวดของศีลมหาสนิทตอนเช้าแล้ว ควรจะขออนุญาตจากบาทหลวงล่วงหน้าที่จะอ่านบทสวดดังกล่าวในตอนเย็นวันก่อนหน้านั้น ถ้าหากโบสถ์ใกล้บ้านนั้นมีพิธีรับศีลสารภาพบาปในตอนเช้าคุณก็ควรจะมาถึงโบสถ์ให้ตรงเวลามาให้ถึงก่อนที่จะเริ่มรับศีลสารภาพบาป แต่ถ้าศีลรับสารภาพบาปได้ประกอบไปแล้วในตอนเย็นวันก่อนหน้านี้ คนที่จะสารภาพบาปก็ต้องมาก่อนเริ่มพิธีกรรมและสวดมนต์ร่วมกับคนอื่นๆ
ศีลมหาสนิท

ศีลมหาสนิทกับพระเยซูคริสตเจ้า คือ ศีลที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยพระเยซูเองในคราวที่พระองค์ร่วมเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายกับอัครสาวกของพระองค์ ระหว่างอาหารมื้อนั้นพระเยซูทรงหยิบขนมปังขึ้นมา และเมื่อขอบพระคุณแล้วทรงหักส่งให้แก่เหล่าสาวกตรัสว่า “จงรับกินเถิด นี่เป็นกายของเรา” แล้วพระองค์จึงทรงหยิบถ้วยมาขอบพระคุณและส่งให้เขา ตรัสว่า “จงรับไปดื่มทุกคนเถิด ด้วยว่านี่เป็นโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งต้องหลั่งออกเพื่อยกบาปโทษแก่คนเป็นอันมาก” (มัทธิว 26:27-28)
ในระหว่างประกอบพิธีกรรมเพื่อถวายบูชาพระเจ้าจะประกอบพิธีรับศีลมหาสนิท คือ การรับพระมังสา (ขนมปัง) และพระโลหิต (เหล้าองุ่น) ซึ่งในทางอัศจรรย์จะแปลงเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซู ส่วนผู้ที่รับศีล เมื่อได้รับประทานของประทานนี้แล้วในระหว่างที่ทำพิธี ในทางอัศจรรย์เช่นกัน ซึ่งเหนือเกินความสามารถทางปัญญาจะเข้าถึงและเข้าใจได้ ก็จะร่วมเข้าสถิตเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระเยซูเอง เหมือนที่องค์พระเยซูสถิตในของประทานทุกส่วนนั้นในพิธีศีลมหาสนิท
การรับศีลมหาสนิท คือสิ่งที่จำเป็นในการเข้าไปถึงชีวิตอันเป็นนิรันดร์ ตรงนี้เองที่พระเยซูได้ตรัสว่า “พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า: เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อและดื่มโลหิตของบุตรมนุษย์ ท่านก็ไม่มีชีวิตในตัวท่าน ผู้ที่กินเนื้อและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร์ และเราจะให้ผู้นั้นฟื้นขึ้นมาในวันสุดท้าย” (ยอห์น 6:53-54)
ศีลมหาสนิทนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อันไม่อาจคณานับได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการชำระตนก่อนล่วงหน้าก่อนการรับศีลมหาสนิท จะยกเว้นก็เสียแต่เด็กเล็กที่มีอายุยังไม่ถึง 7 ขวบ ซึ่งสามารถรับศีลมหาสนิทได้โดยไม่ต้องชำระตนล่วงหน้าตามที่กำหนดแก่คริสตชนทั่วไป ส่วนผู้หญิงจะต้องลบลิปสติกเครื่องสำอางออกให้หมดจากริมฝีปาก ห้ามสตรีในช่วงมีประจำเดือนเข้ารับศีลมหาสนิท ผู้หญิงที่ให้กำเนิดหลังตั้งครรภ์ต้องรับการสวดบทสวดทำความสะอาดตนจากบาทหลวงก่อนเป็นหลังเวลา 40 วัน จึงจะสามารถรับศีลมหาสนิทได้
เมื่อบาทหลวงผู้ทำพิธีได้ออกมาจากพระแท่นบูชาพร้อมกับของประทานมหาสนิทนั้น ผู้ที่จะรับศีลจะต้องทำการคำนับให้ศีรษะถึงพื้น (หากเป็นวันธรรมดา) หรือก้มโค้งคำนับถึงเอว (หากเป็นวันอาทิตย์หรือวันเทศกาลสำคัญ) จำนวน 1 ครั้ง และตั้งใจฟังคำอ่านบทสวดมนต์จากบาทหลวง และสวดตามบาทหลวง หลังจากอ่านบทสวดผู้ที่รับศีลมหาสนิทจึงทำการวางมือเป็นเครื่องหมายกางเขนบนหน้าอกของตนเอง (มือขวาซ้อนทับมือซ้าย) กระทำโดยเป็นไปอย่างอ่อนน้อม ไม่เขินอาย เป็นไปด้วยความอ่อนน้อมอย่างที่สุด และเดินเข้าหาถ้วยพระโลหิตของพระผู้เป็นเจ้า ตามธรรมเนียมที่ดีที่ปฏิบัติกันจะให้เด็กเดินเข้ารับศีลมหาสนิทก่อนจากนั้นจึงเป็นผู้ชาย และสุดท้ายจึงเป็นผู้หญิง ต่อหน้าถ้วยพระโลหิตไม่ต้องทำเครื่องหมายกางเขนบนตัวเพื่อจะได้ไม่ปัดถ้วยหกโดยบังเอิญ เมื่อกล่าวนามของตนออกมาให้ได้ยินแล้วผู้รับศีลจึงเปิดอ้าปากรับของประทานจากสวรรค์ – พระมังสาและพระโลหิตของพระเยซู หลังจากรับของประทานนั้นมัคทายกหรือพระสังฆานุกรจะให้ผ้าพิเศษเช็ดปากแก่ผู้รับศีล หลังจากนั้นผู้รับศีลแล้วจึงจุมพิตที่ขอบด้านล่างของถ้วยพระโลหิต และเดินถอยไปยังโต๊ะพิเศษ ที่เตรียมน้ำอุ่นหรือน้ำมนต์และก้อนขนมปังเล็กๆ เพื่อรับประทานและล้างปากให้พระมังสา และพระโลหิตของพระเยซูหมดไม่เหลือในปาก หากไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่สามารถเข้าแตะต้องสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพ ไม้กางเขน หรือพระคัมภีร์ไบเบิ้ล
หลังจากทำความสะอาดปากและกลืนจนหมดแล้ว ผู้รับศีลจะยังไม่ออกจากโบสถ์ทันทีแต่จะร่วมสวดมนต์กับผู้อื่นจนจบพิธีรีบศีล หลังคำกล่าวปาถกฐาธรรมเทศนา (คำกล่าวให้ศีลให้พรก่อนจบพิธี) ผู้รับศีลมหาสนิทจะเดินเข้าไปหาไม้กางเขน และตั้งใจรับฟังบทสวดขอบคุณพระเจ้าหลังการรับศีลมหาสนิท หลังจากฟังบทสวดขอบคุณพระเจ้าจบผู้รับศีลจึงค่อยแยกย้ายไปอย่างอ่อนน้อม โดยพยายามตั้งใจรักษาสภาพจิตใจที่ถูกชำระจากบาปทั้งหลายจนสะอาดไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่พูดล้อเล่นหรือทำอะไรที่ไม่จรรโลงจิตใจของตน ในวันนั้นหลังจากรับศีลมหาสนิทแล้วจะไม่มีการคำนับแบบศีรษะถึงพื้น และในเวลาที่พบกับบาทหลวงจะไม่มีการก้มจุมพิตหรือเอาศีรษะแตะมือบาทหลวงเพื่อคำนับการก้มคำนับโดยใช้ศีรษะแตะ จะกระทำเฉพาะกับรูปเคารพ ไม้กางเขน หรือพระคัมภีร์ไบเบิ้ลเท่านั้น ในวันถัดๆ ไปจงพยายามรักษากายใจให้สะอาด เช่น หลีกเลี่ยงการพูดมาก (เงียบไปเลยยิ่งดี) ไม่ดูโทรทัศน์ สามีภรรยาไม่ควรมีกิจกรรมทางเพศ ผู้สูบบุหรี่ให้ละจากการสูบบุหรี่ สมควรที่เวลาอยู่บ้านให้อ่านบทสวดขอบคุณพระเจ้าหลังการรับศีลมหาสนิท ความเชื่อที่ว่าในวันรับศีลมหาสนิทห้ามไม่ให้ทักทายโดยการจับมือกันนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด แต่ที่ห้ามคือการรับศีลมหาสนิทหลายๆ ครั้งภายใน 1 วัน
ในกรณีที่ป่วยหรือเกิดความอ่อนแอทางร่างกาย สามารถกระทำการรับศีลที่บ้านก็ได้ ในกรณีนี้จะต้องเชิญบาทหลวงมาที่บ้านผู้ป่วยจะต้องเตรียมตัวเตรียมกายให้พร้อมรับศีลสารภาพบาปและศีลมหาสนิทตามแต่สภาพร่างกายจะเอื้ออำนวย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ การรับศีลมหาสนิทจะต้องรับโดยไม่มีการรับประทานอาหารมาก่อน (ยกเว้นได้แต่คนใกล้ตายเท่านั้น) เด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบจะไม่สามารถรับศีลมหาสนิทที่บ้านได้ โดยต่างจากกรณีของผู้ใหญ่ตรงที่เด็กในวัยดังกล่าวสามารถรับมหาสนิทได้แต่พระโลหิตของพระเยซูเท่านั้น เนื่องจากของประทานที่บาทหลวงใช้ในการให้ศีลมหาสนิทนั้นเป็นขนมปังสำรอง ซึ่งเป็นร่างกายของพระเยซูที่ซึมซับพระโลหิตเอาไว้ ด้วยเหตุนี้เองเด็กแรกเกิดจึงไม่สามารถเข้ารับศีลมหาสนิทในพิธีมกรรมศีลหาสนิทแห่งพระมังสาและพระโลหิตเดิมซึ่งประกอบพิธีขึ้นในวันธรรมดาของช่วงการถือศีลอดใหญ่
ชาวคริสต์แต่ละคนจะต้องกำหนดเองว่าเมื่อใดที่ตนสมควรจะต้องเข้ารับศีลสารภาพบาปและศีลมหาสนิท หรือไม่ก็เป็นไปตามความประสงค์ของบิดาฝ่ายวิญญาณ มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีทั่วไปที่ทำกัน คือ ในแต่ละปีจะรับศีลมหาสนิทไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง คือ 4 ครั้งในช่วงถือศีลอดใหญ่ (1 ปีมี 4 ครั้ง) และครั้งที่ 5 คือ ในวันบูชาเทพองครักษ์ของตน (วันของเทพองค์นั้น ที่ตนถือชื่อของตัวเองตาม)
เหตุที่จำเป็นจะต้องรับศีลมหาสนิทหลายๆ ครั้งนั้น หลวงพ่อนิโคดิม แห่งภูเขาศักดิ์สิทธิ์[4] ได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้ “ผู้ที่เข้าถึงศีลมหาสนิทอย่างแท้จริงนั้น จะอยู่ในอาการสงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใสอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นไปตามครรลองหลังจากรับศีลมหาสนิท หัวใจของเขาจะได้กลืนกินซาบซึ้งในพระผู้เป็นเจ้าในจิตวิญญาณ แต่ก็เหมือนเราที่อยู่ในร่างกายอันคับแคบนี้ และถูกรายล้อมด้วยภาระและความวิตก อันเป็นเหตุให้เราต้องวกวนเข้าไปมีส่วนร่วม ฉันใด การเข้าถึงและกลืนกินพระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า อันควรแก่การเพิ่มความตั้งใจและใส่ใจและอารมณ์เข้าร่วมให้มากเป็นสองเท่า ฉันนั้น ก็ยังมีวันอ่อนแอ ลดด้อยถอยกำลัง และถูกกลบกลืนไป ด้วยเหตุนี้ผู้ที่กระหายในพระเจ้าอย่างแท้จริง เมื่อเริ่มรู้สึกถึงความถดถอยของพลังทางวิญญาณก็ควรจะต้องกระทำเร่งเสริมกำลังนั้นให้กลับคงเดิม และเมื่อกลับมาคงเดิมเขาผู้นั้นก็จะรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังมีองค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ด้วยอีกครั้ง”
